Natural History Museum หมายถึงพิพิธภัณฑ์ประเภทหนึ่งที่กองพิพิธภัณฑ์ กรมศิลปากร ได้แปลไว้ว่า " พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา" และได้มีการอธิบายความหมายไว้ในเครือข่ายอินเตอร์เน็ตของ Google ว่า เป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีวัตถุประสงค์เฉพาะ มุ่งจัดแสดงเรื่องของสรรพชีวิตเพื่อบันดาลใจให้ผู้ชมเข้าใจธรรมชาติของชีวิต เข้าถึงมหัศจรรย์ของธรรมชาติ แล้วเกิดสำนึกหวงแหนธรรมชาติ ด้วยวิสัยทัศน์ว่า มนุษยชาติล้วนเกี่ยวข้องต่อกัน เกี่ยวข้องต่อชีวภาพและกายภาพของโลก จึงมีความจำเป็นที่มนุษย์ต้องเรียนรู้การอยู่ร่วมกันกับสรรพสิ่งอย่างสอดคล้อง เพื่อให้เกิดสันติสุขอย่างยั่งยืน  
       
   

ประเทศเจริญที่ประชาชนอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างเป็นสุข ล้วนให้ความสำคัญต่อพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา ในฐานะแหล่งศึกษาโดยสร้างให้เป็นสถานที่ที่ดลใจให้ผู้ชมโดยเฉพาะเยาวชน สามารถเรียนรู้ชีวภาพและกายภาพ ความสัมพันธ์ต่อกัน แล้วเห็นความงดงามที่เกิดจากความสัมพันธ์ที่สอดคล้องกัน และในที่สุด รู้สึกรักและหวงแหนธรรมชาติในลักษณะ "สรรพสิ่งล้วนพันเกี่ยว" และเป็นประโยชน์แท้"

จากแนวคิด " Natural History Museum" จึงเป็นที่มาของ "Thai Island and Sea Natural History Museum" หรือ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเกาะและทะเลไทย ซึ่งกองทัพเรือได้ก่อตั้งขึ้นสนองพระราชดำริในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยประมวลพระราชดำริที่พระราชทานไว้แก่กองทัพเรือหลายครั้งหลายครา ด้วยกันมาเป็นกรอบการดำเนินงาน ตั้งอยู่ ณ เขาหมาจอ ตำบลแสมสาร อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี

พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเกาะและทะเลไทยแห่งนี้ จัดแสดงให้เป็นเสมือน Discovery Land หรือ ดินแดนแห่งการค้นหามหัศจรรย์แห่งชีวิต เพื่อให้ผู้ชมเรียนรู้ สรรพชีวิตทางทะเล ในลักษณะที่ "สรรพสิ่งล้วนพันเกี่ยว" โดยมีเกาะแสมสารเป็นพื้นที่ต่อเนื่องของพิพิธภัณฑ์ฯ ที่จะศึกษาธรรมชาติ ในเส้นทางศึกษาธรรมชาติ 1 กิโลเมตร , 700 เมตร, 500 เมตร, 248 เมตร

บัดนี้การจัดสร้างได้แล้วเสร็จในระดับที่สามารถเปิดให้ประชาชนชมได้ และจะสร้างเพื่อพัฒนาต่อไปให้เข้าสู่การเป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาทางทะเลในระดับสากล

การก่อสร้างได้รับการออกแบบให้เป็นอากาคาไต่ระดับเขาถึงยอดเนิน รวม 5 หลัง หันสู่ทะเล ซึ่งผู้ชมสามารถชมการจัดแสดงไปพร้อมกับการชื่นชมทัศนียภาพเกาะและทะเลไทยได้ในมุมกว้าง โดยมีเจตนาให้สอดคล้องกับพระราชดำริที่ปลูกฝังให้เห็นถึงความงดงามแล้วเกิดปิติที่จะศึกษาและอนุรักษ์ธรรมชาติต่อไป

ชีวภาพและกายภาพทางทะเลที่จัดแสดง ได้รวบรวมจากกิจกรรมสำรวจทางทะเลของโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ กองทัพเรือ ที่ดำเนินมาเกือบ 10 ปี บนเกาะต่างๆ ทั้งฝั่งอ่าวไทยและฝั่งทะเลอันดามัน นับตั้งแต่เริ่มโครงการในปี 2551 โดยมีเจ้าหน้าที่ทหารเรือและนักวิทยาศาสตร์จากหลายสถาบันปฏิบัติงานร่วมทุกข์ร่วมสุข นอนกลางดินกินกลางทรายทำงานร่วมกันมาจนเกิดความผูกพันเป็นกลุ่ม "คณะปฏิบัติงานวิทยาการ" การสำรวจเดินไปตามแนวพระราชดำริที่ว่า "ให้สำรวจตั้งแต่ยอดเขาจนถึงใต้ทะเล" โดยแบ่งเป็นสาขาต่างๆ ทั้งชีวภาพบนบก ชีวภาพทางทะเล สภาพอุตุนิยมวิทยา อุทกศาสตร์ ธรณีวิทยา ซึ่งผลสำรวจได้ "มหัศจรรย์แห่งการค้นพบ" ได้แก่ ซากฟอสซิลต่างๆ ชีวภาพพันธุ์ไม้ที่เป็นสิ่งแรกในโลกที่เรียกว่า " New Record Species " และหลายต่อหลายสิ่ง เช่น หอยทากจิ๋ว รวมทั้งสิ่งมีชีวิตที่เริ่มจะหายากและหายไปจากที่อยู่อาศัยเดิมๆ เช่น กิ้งก่าบิน ตุ๊กแกบิน นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตอีกด้วยว่า การสำรวจของคณะปฏิบัติงานวิทยาการในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ กองทัพเรือครั้งนี้ นับเป็นการสำรวจกายภาพและชีวภาพทางทะเล โดยคณะนักวิทยาศาสตร์ไทยครั้งแรกในประเทศไทย หลังจากที่ได้มีการสำรวจพันธุ์ไม้ทางทะเลครั้งแรกของคณะนักพฤกษศาสตร์ ชาวเดนมาร์ค ภายใต้การนำของ ดร.ชมิตต์ ที่เกาะช้าง จังหวัดตราด เมื่อ ๑๐๐ ปีมาแล้ว

พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเกาะและทะเลไทย ได้มีการจัดแสดง " มหัศจรรย์ที่ค้นพบ" ที่ได้รับการออกแบบโดยคณะสถาปัตยกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง โดยแยกเนื้อหาไว้แต่ละอาคารดังนี้

อาคารหลังที่ 1 หรือ "อาคารเทอดพระเกียรติมหาราช" แบ่งออกเป็น 2 ส่วน

- ส่วนแรก (โซน A) เป็นการนำเสนอวัตถุประสงค์ ความเป็นมาของโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงสืบทอดจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตามพระราชปณิธาน " เดินตามรอยเท้าพ่อ" จนถึงพระราชดำริเพิ่มเติมในการเรียนรู้ทรัพยากร การใช้ประโยชน์และการสร้างจิตสำนึก โดยมุ่งเทอดพระเกียรติในลักษณะ "เจ้าฟ้านักอนุรักษ์"

- ส่วนที่ 2 (โซน B) ของอาคารการจัดการแสดงมุ่งเน้นความสัมพันธ์ระหว่างหิน ดิน และชีวิต อาทิ กระบวนการเกิดดิน อนุภาคของดินที่เอื้อประโยชน์ต่อระบบนิเวศ งานอุทกศาสตร์ทางทะเล รูปแบบชนิดของหินดินแร่ ความเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเลอันก่อให้เกิดสภาพภูมิศาสตร์ปัจจุบัน รวมทั้งเรื่องราวของฟอสซิล หรือซากดึกดำบรรพ์ที่คณะสำรวจของโครงการฯ ค้นพบบนเกาะบอน จังหวัดพังงา และร่องรอยอีกมากมายของฟอสซิลภายใต้ท้องทะเล สิ่งที่จัดแสดงเหล่านี้จะทำให้ผู้เข้าชม เข้าใจถึงกระบวนการเปลี่ยนแปลง และหลักฐานที่ใช้สนับสนุนกระบวนการทางวิวัฒนาการ (Evolution) ของสิ่งมีชีวิตและเน้นประจักษ์พยานของทฤษฎีวัฒนาการนี้ด้วย

อาคารหลังที่ 2 หรือ "อาคารปวงปราชญ์ร่วมแรงใจ" แบ่งเป็น 2 ส่วน

- ส่วนแรก (โซน A) มุ่งเสนอนิเวศของป่า พรรณพืช และสัตว์ มีสาระเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพ สังคมพืชป่าดงดิบ ป่าผลัดใบ พืชที่พบจากเกาะต่างๆ และการค้นพบพันธุ์พืชที่มีอยู่เฉพาะในประเทศไทย พันธุ์ไม้ที่เป็น new record species หลายชนิด รวมทั้งความหลากหลายของสมุนไพร

- ส่วนที่ ๒ (โซน B) ที่อยู่ถัดไปของอาคารปวงปราชญ์ร่วมแรงใจ มุ่งเสนอในหัวข้อผู้ย่อยสลายในธรรมชาติ ได้แก่ ปลวก จุลินทรีย์ดิน เห็ดรา สัตว์หน้าดินในดิน ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งในห่วงโซ่อาหารและสายใยอาหาร อันเป็นกระบวนการหมุนเวียนพลังงานที่ก่อให้เกิดความสมดุลในระบบนิเวศ รวมทั้งงานวิจัยที่พบว่าเชื้อราบางชนิดสามารถสร้างสารเคมีต่อต้านเชื้อมะเร็ง และเชื้อ HIV ได้

อาคารหลังที่ 3 หรือ "อาคารใฝ่เรียนรู้ผู้ฉลาด" แบ่งเป็น 2 ส่วน

- ส่วนแรก มุ่งเสนอในหัวข้อระบบนิเวศสังคมพืช พืชฝั่งทะเล โดยเน้นระบบนิเวศบนพื้นที่ตั้งพิพิธภัณฑ์ฯ ในหมู่เกาะแสมสาร รวมทั้งงานวิจัยหลายอย่าง เช่น เรื่องหอยทากบางชนิด และการเกิดหอยชนิดใหม่ที่มีผลจากการแยกตัวของประชากรทางสภาพภูมิศาสตร์ ซึ่งมีการค้นพบหอยทากชนิดใหม่จากการสำรวจของคณะทหารเรือและนักวิทยาศาสตร์ในโครงการฯ ถึง 3 ชนิด ได้แก่ หอยทากจิ๋วปากแตร หอยมรกต และหอยทากสยาม เป็นต้น


งานวิจัยที่น่าสนใจอีกเรื่องหนึ่งที่เชื่อมโยงสู่ "มหัศจรรย์แห่งการค้นพบ" คือการพบสิ่งมีชีวิตอีหลายชนิดที่เริ่มจะหายากในปัจจุบัน ที่คนรุ่นใหม่อาจจะไม่สามารถพบเห็นได้ง่าย เช่น ตุ๊กแกบิน กิ้งก่าบิน และตะกองซึ่งจัดเป็นกลุ่มกิ้งก่าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่พบในประเทศไทย รวมทั้งนกหายากอีกหลายชนิด และเรื่องราวการอพยพของนกนานาชนิด

- ส่วนที่ 2 ที่อยู่ถัดไปของอาคารหลังที่ 3 นำเสนอสาระในหัวข้อประโยชน์จากระบบนิเวศป่าชายเลน โดยพาไปรู้จัก "ป่าสามน้ำ" "ป่าพระจันทร์สร้าง" รวมทั้งป่าชายเลนในฐานะ "ต้นทุนชีวิต"

อาคารหลังที่ 4 หรือ "อาคารพิฆาติความไม่ดีที่ประจักษ์" แบ่งเป็น 2 ส่วน

- ส่วนแรก เสนอสาระในหัวข้อ ปัญหามลภาวะที่เกิดขึ้นในท้องทะเลไทย ได้แก่ ภาวะโลกร้อน มลภาวะในประเทศไทย รวมทั้งดัชนีบ่งชี้ผลที่ปรากฏ เช่น ปริมาณปลาลดน้อยลง ปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของสาหร่ายบางชนิด

- ส่วนที่ 2 ที่อยู่ถัดไปของอาคารนี้ นำเสนอสาระในหัวข้อการปลูกจิตสำนึก ฟื้นฟูธรรมชาติตามแนวพระราชดำริ ว่าควรปลูกฝังให้เด็กเห็นความงดงาม ความน่าสนใจของพืชพรรณ แล้วเกิดความปิติที่จะศึกษาและอนุรักษ์พืชพรรณต่อไป รวมทั้งคำถามที่จะถามว่าเกิดอะไรขึ้นหากความหลากหลายของชีวภาพลดลง และมีความจำเป็นอย่างไรที่ควรจะอนุรักษ์ความหลากหลายของชีวภาพเหล่านี้

อาคารหลังที่ 5 หรือ "อาคารพิทักษ์ศักยภาพทะเลไทย" ซึ่งเป็นอาคารบนยอดเนินเขาหมาจอ หันออกสู่ทะเลในมุมกว้าง มองเห็นเกาะแสมสารที่ตั้งตระหง่านรวมอยู่กับหมู่เกาะข้างเคียงในทะเลกว้างตัดกับท้องฟ้าสีคราม อาคารหลังนี้กำหนดไว้เป็นที่จัดแสดงงานของกองทัพเรือในการพิทักษ์รักษาอธิปไตยของชาติทางทะเล การสนับสนุนการพัฒนาประเทศ การช่วยเหลือประชาชน รวมทั้งการเข้าร่วมในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ โดยตระหนักว่างานนี้เป็นส่วนหนึ่งของภารกิจการรักษาความมั่นคงของชาติทางทะเล

พื้นที่ของพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเกาะและทะเลไทย มิได้มีเพียงแค่อาคารไต่เขาถึงยอดเนิน 5 หลัง ที่จัดแสดง "มหัศจรรย์การค้นพบ" และงานในลักษณะที่ "สรรพสิ่งล้วนพันเกี่ยว" เท่านั้น พื้นที่ยังได้จัดแสดง "มหัศจรรย์การค้นพบ" เช่น พืชพรรณ ฟอสซิล หิน ดิน แร่ ไว้บนเส้นทางธรรมชาติระหว่างทางนอกอาคารในลักษณะพิพิธภัณฑ์มีชีวิต เพื่อให้ผู้ชมโดยเฉพาะเยาวชนได้เรียนรู้อย่างใกล้ชิด สามารถสัมผัสและศึกษาความเกี่ยวพันกับสรรพสิ่ง ยิ่งกว่านั้นผู้เข้าชมที่สนใจในการศึกษาและค้นหาธรรมชาติด้วยตนเอง ยังสามารถที่จะเดินทางข้ามทะเลไปยังเกาะแสมสาร ที่อยู่ฝั่งตรงข้ามเพื่อเดินสู่เส้นทางศึกษาธรรมชาติ สัมผัสธรรมชาติด้วยตนเอง ตั้งแต่ทะเลถึงยอดเขา และยอดเขาถึงใต้ทะเล ได้ถึง 3 ทาง ระยะทาง 1 กิโลเมตร , 700 เมตร, และ 500 เมตร ซึ่งเป็นการเดินศึกษาธรรมชาติ ตามรอยพระบาทของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์ประธานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ที่ได้เสด็จฯ มาด้วยพระองค์เอง เมื่อวันที่ 27 กันยายน พ.ศ.2545

Thai Island and Sea Natural History Museum หรือ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเกาะและทะเลไทย เป็นผลงานที่น่าภาคภูมิใจของกองทัพเรือในอันที่จะสนองพระราชกระแสรับสั่งของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ได้พระราชทานไว้แก่กองทัพเรือเมื่อครั้งที่ พลเรือเอก ประเสริฐ บุญทรง ผู้บัญชาการทหารเรือ เข้าเฝ้าฯ ถวายพื้นที่เนินเขาหมาจอ ตำบลแสมสาร อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ไว้ให้เป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติทางทะเลแห่งแรกในประเทศไทย เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ.2545 ทั้งได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จารึกไว้บนยอดเนินเขาบนเกาะแสมสาร และได้เสด็จฯ มาทรงเจิมแผ่นจารึกโลหะสัมฤทธิ์ด้วยพระองค์เอง เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2545 ความว่า "ให้กองทัพเรือ ทำงานนี้เพื่อความมั่นคงของประเทศ"

ี้
เรียบเรียงโดย น.อ.หญิง พริ้งพิมพ์ อินทรโภคา
จากหนังสือจากยอดเขาถึงใต้ทะเล ๒ สรรพสิ่งลวนพันเกี่ยว.. สู่ .. ประโยชน์แท้แก่มหาชน


 
 
 
@ 2007 www.tis-museum.org.. All rights reserved.
This site is best viewed with Microsoft Internet Explorer 6.0+ at a minimum screen resolution of 1024 x 768,
A minimum modem connection speed of 56Kbps. Also required Flash plug-in.