ปลายเดือน พ.ศ.2541 ช่วงนั้นข้าพเจ้ากลับมาจากการฝึก COBRA GOLD 1998 ได้รับคำสั่งให้ต้อนรับคณะเจ้าหน้าที่จากสวนจิตรลดา ซึ่งจะมาสำรวจพื้นที่เกาะแสมสาร เพื่อเตรียมทำงานของโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ
"โครงการนี้ คืออะไร" ข้าพเจ้าครุ่นคิดในใจ
"แล้วมาเกี่ยวเกี่ยข้องกับหน่วยสงครามพิเศษทางเรือ ได้อย่างไร"
"ทำไมต้องรับงานโครงการนี้มาทำ"
"หน่วยสงครามพิเศษทางเรือ ฝึกคนมาเพื่อเป็นนักรบ ไม่น่าต้องมาทำงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช"
 
       
   

คำถามเหล่านี้เกิดขึ้นในใจข้าพเจ้ามาตลอด ตั้งแต่ทราบว่า กองทัพเรือเข้าร่วมสนองพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ โดยเริ่มปฏิบัติงานที่เกาะแสมสาร ซึ่งเป็นเกาะของกองทัพเรือที่หน่วยสงครามพิเศษทางเรือใช้ประโยชน์ในการฝึกยุทธวิธียิงอาวุธและฝึกวัตถุระเบิดแล้วใช้ในการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชได้อย่างไร

เมื่อปี 2540 ขณะที่ข้าพเจ้าอยู่ระหว่างการศึกษาในโรงเรียนเสนาธิการทหารเรือ กองทัพเรือ ได้มีการพิจารณาเรื่องการเข้าร่วมสนองพระราชดำริในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ ซึ่งเมื่อ

ข้าพเจ้าสำเร็จจากโรงเรียนเสนาธิการทหารเรือแล้ว จึงได้มีโอกาสค้นหาความเป็นมาของโครงการฯ จากรายงาน ผลการประชุมโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตามบันทึกสำนักงานรองผู้บัญชาการทหารเรือ ลงวันที่ 11 สิงหาคม 2540 สรุปใจความได้ว่า

เมื่อ 5 สิงหาคม 2540 ได้เชิญหัวหน้าหน่วยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมหารือกับผู้แทนสำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ ณ ห้องประชุม สลก.ทร. อาคาร บก.ทร. ผู้เข้าร่วมหารือในส่วนของสำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ ประกอบด้วย พล.รท.พิบูลศักดิ์ บุญชูช่วย ที่ปรึกษาโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา ดร.พิศิษฐ์ วรอุไร ประธานคณะกรรมการบริหาร โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ นายพรชัย จุฑามาศ รองผู้อำนวยการโครงการส่วนพระองค์ฯ และเลขานุการคณะกรรมการบริหารโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ ในส่วนของ ทร.ประกอบด้วย รอง ผบ.ทร. (พล.ร.อ. สุวัชชัย เกษมศุข) ,ปช.ทร., ผบ.กผฝ.,
ผบ.ฐท.สส., จก.อศ., ผบ.สอ./รฝ., ผู้แทน รองเสธ.ทร. และผู้แทน ผช.เสธ.ทร.ฝยก.

ในการประชุมหารือ ได้สรุปความเป็นมาของโครงการฯ ว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้มีพระราชดำริให้อนุรักษ์พันธุกรรมพืชทั่วประเทศ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2535 รวมทั้งมีพระราชดำริว่า "น่าจะมีการสำรวจพืชพรรณตามเกาะต่างๆ เพราะยังไม่มีผู้สนใจเท่าไร" ดังนั้นเมื่อ 30 เม.ย.36 จึงได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาดำเนินการอย่างจริงจัง กิจกรรมของโครงการฯ ที่ได้ดำเนินการประสบความสำเร็จ ยกเว้น ยังขาดการสำรวจพันธุ์ไม้ตามเกาะต่าง ๆ จึงได้มีหนังสือเชิญกองทัพเรือ เข้าร่วมสนองพระราชดำริฯ โดยประเด็นสำคัญคือ ต้องการให้กองทัพเรือสนับสนุนเกาะที่มีแหล่งน้ำจืดเพียงพอที่จะเข้าร่วมโครงการฯ

การพิจารณาเกาะของกองทัพเรือที่มีความเหมาะสมจะเข้าร่วม ที่ประชุมได้พิจารณา เกาะมันนอก เกาะไผ่ เกาะแสมสาร เกาะคราม เกาะขาม เกาะจวง และเกาะจาน ว่าเกาะใดจะมีความเหมาะสมในการเข้าร่วมโครงการฯ ผลการพิจารณาที่ประชุมมีความเห็นสอดคล้องกันว่า เกาะแสมสารมีความเหมาะสมที่จะเข้าร่วมโครงการฯ มากที่สุด เนื่องจากมีขนาดพื้นที่เหมาะสม ไม่มีราษฎรอาศัย (ตรงกับพระราชดำริที่ไม่ต้องการให้ราษฎรเดือดร้อน) มีแหล่งน้ำจืด ( ตรงกับข้อกำหนดของโครงการฯ ) มีที่ตั้งอยู่ใกล้ฝั่ง เดินทางได้สะดวก เป็นที่ดินของกองทัพเรือ และมีที่ตั้งอยู่ใกล้หน่วยต่าง ๆ ของกองทัพเรือ ที่จะสามารถอำนวยความสะดวกและสนับสนุนโครงการฯ ได้ อย่างไรก็ตามสำนักงา โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ แจ้งว่าจะต้องสำรวจเกาะแสมสารก่อนว่ามีความเป็นไปได้ที่จะเข้าร่วมโครงการฯ หรือไม่ โดยจะประสานกองทัพเรือขอรับการสนับสนุนการสำรวจเกาะแสมสารหลัง 14 ส.ค.40”

วันที่ข้าพเจ้าไปต้อนรับคณะจากสวนจิตรลดา ในส่วนของหน่วยสงครามพิเศษทางเรือ มีกำลังพลซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งต่างๆ ดังนี้ นาวาเอกวินัย กล่อมอินทร์ รองผู้บังคับการหน่วยสงครามพิเศษทางเรือ กองเรือยุทธการ, นาวาตรีประเสริฐ รุ่งแสง ปฏิบัติหน้าที่ผู้บังคับกองร้อยป้องกัน กองบังคับการหน่วยสงครามพิเศษทางเรือ, ข้าพเจ้า นาวาโทอาภากร อยู่คงแก้ว ผู้บังคับกองรบพิเศษที่ ๒ และ นายทหารการข่าว และปฏิบัติหน้าที่นายทหารกิจการพลเรือน หน่วยสงครามพิเศษทางเรือ กองเรือยุทธการ นอกจากนั้น มีนายทหารชั้นประทวน อีก 2-3 คน ส่วนคณะจากสวนจิตรลดา มี ดร.พิศิษฐ์ วรอุไร และเจ้าหน้าที่อีก 2-3 คน

ข้าพเจ้าจำได้ว่า ในช่วงบ่ายของวันนั้น ดร.พิศิษฐ์ อยากจะไปสำรวจดูพื้นที่เกาะแสมสาร และเกาะแรด เพื่อเตรียมการสำรวจทางกายภาพและชีวภาพบนเกาะโดยการร่วมมือกับนักวิชาการสาขาวิทยาการต่างๆพวกเราได้นำคณะของท่านไปสำรวจดูที่เกาะแรดก่อน เพราะคิดว่าเป็นเกาะที่มีขนาดเล็ก คงใช้เวลาไม่นานนัก แต่พอเอาเข้าจริง พวกเราคิดผิดเพราะใช้เวลานานร่วม ๒ ชั่วโมง ดร.พิศิษฐ์ ท่านให้เรานำท่านเดินสำรวจ ๑ รอบเกาะ ระหว่างเดินสำรวจท่านได้อธิบายถึงวิธีการสำรวจพื้นที่และทรัพยากรต่างๆ ของนักวิชาการ ข้าพเจ้าฟังท่านอธิบายแล้วยังไม่ค่อยเข้าใจเท่าไรนัก แต่ก็ฟัง ๆ ไว้ก่อน ยิ่ง ดร.พิศิษฐ์ พูดคำว่า “สำรวจความหลากหลายของชีวภาพและกายภาพ” ข้าพเจ้ายิ่งงงไปกันใหญ่ว่า เขาสำรวจกันอย่างไร เพราะไม่เคยได้ยินมาก่อน

จากเกาะแรดจึงเดินทางต่อไปที่เกาะแสมสาร ซึ่งอยู่ห่างกัน ไม่ถึงครึ่งไมล์ ดร.พิศิษฐ์ ท่านก็ขอให้พวกเรานำท่านขึ้นไปบนยอดเขาที่สูงที่สุดของเกาะแสมสาร โดยเดนตามแนวสันเขา ถึงแม้ว่ายอดเขาของเกาะแสมสาร จะสูงไม่มากนักประมาณ 167 เมตร แต่ด้วยการที่ต้อง เจาะช่องทางไปพร้อมๆ กับการสำรวจ ก็เล่นเอาเหนื่อยทีเดียว แต่พวกเราก็ยังต้องลุยกันต่อไป เพราะดร.พิศิษฐ์ วรอุไร ท่านอายุประมาณ 60 ปี ท่านยังเดินได้อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย แล้วพวกเราจะยอมถอยได้อย่างไร

วันนั้นกว่าจะกลับลงมาจากยอดเขา ก็ใกล้มืดแล้ว นาวาเอกวินัย กล่อมอินทร์ ต้องเสียรองเท้าคัทชูหนังแก้ว made in USA ไปหนึ่งคู่ เพราะไม่ได้เตรียมตัวว่าต้องลุยขนาดนี้ เมื่อไปด้วยกันแล้วก็ต้องลุยไปจนถึงที่สุด สมกับการเป็นผู้นำทีเดียว
ดร.พิศิษฐ์ ได้อธิบายว่า เราต้องเตรียมเส้นทางสำรวจสำหรับนักวิชาการ โดยให้เจาะช่องทางเป็นช่องเล็ก ๆ พอให้นักสำรวจ เดินผ่านได้ หากจะตัดต้นไม้ ให้ตัดเฉพาะกิ่งก้านเท่านั้น อย่าไปรบกวนลำต้น เส้นทางการสำรวจจะมี Base Line เป็นฐาน และมีเส้นทางแยกออกจาก Base Lineให้ชื่อเป็นเส้นโอ (O) ไล่ลำดับเป็นเส้นทางโอหนึ่ง โอสอง โอสาม.....(O1, O2, O3…..) ตามลำดับ โดยพิจารณาลักษณะภูมิประเทศที่เป็นสันเขา และหุบเขา สลับกันไป ดร.พิศิษฐ์ วรอุไร กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า ในสัปดาห์หน้าจะมีการสำรวจทรัพยากรชีวภาพและกายภาพโดยนักวิชาการสาขาวิชาต่างๆ
เพียงคำพูดที่ท่านทิ้งท้ายไว้นั้น เราได้ดำเนินการวางแผน พิจารณาลักษณะภูมิประเทศและระดมกำลังพล เร่งเจาะเส้นทางสำรวจแทบทุกตารางนิ้วของเกาะแสมสาร เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับคณะนักวิชาการ

และแล้ววันแห่งการสำรวจก็มาถึง ข้าพเจ้าไม่คาดคิดมาก่อนว่าจะมีนักวิชาการจากสถาบันการศึกษา และหน่วยงานต่าง ๆ มากันมากมายขนาดนี้ ดร.พิศิษฐ์ แนะนำให้ข้าพเจ้าได้รู้จักกับ คุณพรชัย จุฑามาศ รองผู้อำนวยการโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช ฯ, ศาสตราจารย์จำลอง เพ็งคล้าย ผู้เชี่ยวชาญด้านพรรณพืช จากกรมป่าไม้ ซึ่งเกษียณอายุราชการแล้ว แต่ยังอุทิศตนทำงานให้กับกรมป่าไม้, คณะนักวิชาการจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา และนักวิชาการจากสถาบันต่าง ๆ รวมแล้วประมาณ 50 กว่าคน

นอกจากนั้นในส่วนของกองทัพเรือ กรมอุทกศาสตร์ และกรมวิทยาศาสตร์ทหารเรือได้สำรวจสภาพทางสมุทรศาสตร์ ลักษณะทางอุตุนิยมวิทยา คุณภาพน้ำบนเกาะแสมสารและบริเวณโดยรอบ

การสำรวจความหลากหลายของทรัพยากรชีวภาพและกายภาพ บนเกาะแสมสาร ก็ได้เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่บัดนั้น และจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันที่ ๒๒ เมษายน พ.ศ.๒๕๔๑ “ให้ดำเนินการศึกษาสำรวจทรัพยากรตั้งแต่ยอดภูเขาถึงใต้ท้องทะเล” ทำให้การศึกษา สำรวจเก็บรวมรวม ข้อมูลมิได้เน้นเฉพาะเรื่องพืชพรรณเท่านั้น แต่เป็นการศึกษาทรัพยากรทั้งด้านชีวภาพและกายภาพทุกแขนง
นอกเหนือจากการสำรวจทรัพยากรแล้ว ในส่วนของการออกแบบสิ่งก่อสร้าง บนเกาะแสมสาร ตามแนวทางพระราชดำริ ฯ กรมช่างโยธาทหารเรือ ได้ดำเนินงานอย่างเข้มแข็งโดยมี นาวาเอก ศรินาถ ศิริรังษี ผู้อำนวยการกองออกแบบ และ ท่านยังมีลูกน้องเดินตามหนึ่งคน เป็นผู้หญิงลักษณะท่าทางและหน้าตาน่าเอ็นดู ตอนแรกคิดว่าเป็นนัก

ศึกษามาฝึกงาน แต่ที่ไหนได้ น้องเค้าเป็นนายทหารหญิง ชื่อ เรือตรีหญิงอรอุสาห์ ทองไทย (ยศขณะนั้น) ซึ่งขยันขันแข็งเช่นเดียวกับลูกพี่ สมศักดิ์ศรีนายทหารหญิงแห่งราชนาวีไทยทีเดียว

หลังจากที่พวกเราเริ่มงานได้ไม่นาน ก็ได้ทราบว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะเสด็จทรงงานและเยี่ยมชมโครงการฯ ที่เกาะแสมสาร กรมกิจการพลเรือนทหารเรือจึงต้องเร่งจัดทำแผนแม่บทของโครงการฯ และอำนวยการในการเตรียมรับเสด็จฯ

นี่คือส่วนหนึ่งของการดำเนินงานในช่วงแรก ของโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ และกองทัพเรือ ตั้งแต่ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๔๑ จนกระทั่ง ปัจจุบัน พ.ศ 2550 การทำงานได้ก้าวย่างสู่ปีที่ ๑๐ หากมองย้อนกลับไป เหมือนดั่งความฝันที่เคยฝันกันไว้ตั้งแต่แรกเริ่ม ทุกก้าวย่างที่ผ่านมา แม้ว่าจะมีอุปสรรคทำให้เราสะดุดลงไปบ้าง แต่ด้วยความมุ่งมั่น และความสามัคคี จึงเดินหน้าต่อไปอย่างมั่นคง จนมีผลงานเป็นประจักษ์มากมาย

งานสำรวจเก็บรวบรวมพันธุกรรมพืช ได้สำรวจความหลากหลายทางชีวภาพและกายภาพของทรัพยากรทั้งบริเวณฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามัน รวม 46 เกาะ โดยนักวิจัย และผู้เชี่ยวชาญกว่า 20 สาขา ได้สำรวจพบความหลากหลายของพรรณพืช สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กจำพวก เชื้อรา ปลวก สัตว์หน้าดิน สัตว์ในดิน แมลง นก หอย สัตว์สะเทินน้ำ สะเทินบก สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเล ซึ่งมีบางชนิดเป็นการค้นพบครั้งแรกในประเทศไทย เช่น เฟริ์นกูดหางนก หอยทากจิ๋ว เป็นต้น

ภาพของการสำรวจทางทะเลที่ต้องเผชิญกับคลื่นลมโหมกระหน่ำ จากเรือระบายพลลงเรือยาง แล้วขึ้นสู่ฝั่ง เสมือนการยกพลขึ้นบก จากท้องน้ำสู่ยอดเขา และใต้ท้องทะเล นี่คือ สิ่งที่นักรบอย่างพวกเราจะต้องนำนักวิชาการ เข้าสำรวจทรัพยากร แม้ว่าฐานของวิชาชีพและภารกิจหลักจะต่างกัน แต่ทุกคนมีน้ำหนึ่งใจเดียวกันที่จะทำงานอนุรักษ์พันธุกรรมพืชให้บรรลุตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์ มีการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ พร้อมการศึกษาควบคู่กันไป ไม่ว่าจะขึ้นเขา หรือลงทะเล ไม่ว่าสภาพลม ฟ้า อากาศ ท้องทะเล และสภาพธรรมชาติที่เรากำหนดไม่ได้จะเป็นอย่างไร ทุกคนล้วนมีความปิติยินดีที่ได้ร่วมกัน ฝ่าอุปสรรคต่าง ๆ

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระราชทานแนวทางงานสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช แก่กองทัพเรือ ที่เกาะแสมสารว่าควรพิจารณาปฏิบัติตามรูปแบบของอุทยานแห่งชาติเกาะปอร์กอรอลส์ และเกาะโคร์ส ที่ฝรั่งเศส
ซึ่งได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนมาในปี พ.ศ. 2538 และทรงมีความประทับใจในวิธีการให้ความรู้ความเข้าใจในด้านพันธุ์ไม้และระบบนิเวศต่อเยาวชน ในลักษณะที่เป็นพิพิธภัณฑ์มีชีวิต อันก่อให้เกิดความรู้สึกผูกพันกับธรรมชาติ ในการนี้ทรงมีพระราชวินิจฉัยเห็นชอบและพระราชทานแนวทางการดำเนินงานเพิ่มเติม ดังนี้

“ควรให้คนเข้าชมพิพิธภัณฑ์ที่ตั้งอยู่บนฝั่งมากกว่าที่จะไปรบกวนบนเกาะ”
“ที่เกาะแสมสาร จะทำแบบเกาะปอร์กอรอลส์ไม่ได้ เพราะเกาะของเราเล็ก ฉะนั้นควรให้คนมาดูแล้วกลับไป ไม่มีที่ให้ค้าง”
“เนื้อหาที่จะจัดแสดง (ในพิพิธภัณฑ์) จะต้องให้เป็นการสอนและปรับปรุงให้ใหม่อยู่เสมอ และควรมีงานวิจัยอย่างต่อเนื่อง”

กองทัพเรือได้น้อมเกล้าฯ รับแนวทางพระราชดำริ และจัดสร้าง “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเกาะและทะเลไทย” ขึ้น ริมทะเลบริเวณเขาหมาจอ ตรงข้ามเกาะแสมสาร ตำบลแสมสาร อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี อาคารมีลักษณะไต่ระดับเขา ถึงยอดเขา มองเห็นทัศนียภาพในมุมกว้าง ไกล และลึกของทะเล โดยมุ่งที่จะให้ผู้ชมเห็นศักยภาพและความงดงามของท้องทะเลแล้วเกิดจินตนาการและความปิติที่จะรักษาทรัพยากรธรรมชาติไว้ตามแนวพระราชดำริ

ข้าพเจ้าได้ประจักษ์ชัดว่า ศักยภาพและความสามารถของกองทัพเรือ ในการสนับสนุนการอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรของประเทศ ในงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ก่อให้เกิดคุณค่าอย่างมากมาย นอกเหนือจากการปกปักรักษาทรัพยากรแล้ว ยังเป็นการสร้างฐานข้อมูลทรัพยากรเพื่อประโยชน์แก่เยาวชนรุ่นหลังสืบต่อไป ดังพระราชกระแสที่ทรงพระราชทานแก่ผู้บัญชาการทหารเรือ เมื่อ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2544 ความว่า
“กองทัพเรือทำงานนี้เพื่อความมั่นคงของประเทศ”

ี้เรียบเรียงโดย น.อ. อาภากร อยู่คงแก้ว ร.น. ผู้บังคับการหน่วยสงครามพิเศษทางเรือ กองเรือยุทธการ กองทัพเรือ
จากหนังสือจากยอดเขาถึงใต้ทะเล ๒ สรรพสิ่งลวนพันเกี่ยว.. สู่ .. ประโยชน์แท้แก่มหาชน


 
 
 
@ 2007 www.tis-museum.org.. All rights reserved.
This site is best viewed with Microsoft Internet Explorer 6.0+ at a minimum screen resolution of 1024 x 768,
A minimum modem connection speed of 56Kbps. Also required Flash plug-in.