เรือระบายพล แล่นตัดคลื่นออกสู่ทะเลอันดามัน ใบพัดตีน้ำทะเลขึ้นมาเป็นฟองขาว ตัดกับท้องฟ้าสีฟ้า บรรยากาศเช่นนี้ดึงดูดให้พวกเราทุกคนในเรือไม่สามารถนั่งซุกอยู่ในโถงเรือ ต้องออกมาอาบแดดกันบนดาดฟ้า ชมวิวของทะเลอันดามัน กว่าจะมองเห็นเกาะตาชัยก็เล่นเอาหน้าดำเกรียมแดดไปตามๆกัน
7 วันของการสำรวจเกาะบอนและเกาะตาชัย กลางทะเลอันดามัน คณะวิทยปฏิบัติการสามารถสำรวจพบและเก็บตัวอย่างสิ่งมีชีวิตได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งหลายชีวิตไม่เคยปรากฎพบเห็นมาก่อน
จากฝั่งทะเลอันดามัน ในปีถัดไป คณะสำรวจกว่า 130 ชีวิต ออกเดินทางอีกครั้ง สู่กลางทะเลอ่าวไทย ครั้งนี้ที่หมายของเราอยู่ที่ เกาะกระ
เกาะกระ อยู่ห่างจากฝั่งทะเลของจังหวัดนครศรีธรรมราชประมาณ 30 ไมล์ทะเล แวดล้อมด้วยน้ำทะเลใส ยิ่งเมื่อได้ลงไปดำสำรวจใต้น้ำบริเวณเกาะกระ ก็ยิ่งรู้สึกประทับใจ เพราะมีปลาใหญ่หลากหลายชนิด เข้ามาอาศัยอยู่ตามแนวปะการังของเกาะ การสำรวจที่เกาะกระออกจะยากลำบากสำหรับคณะวิทยปฏิบัติการอยู่สักหน่อย เพราะไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวก ต้องนอกกันในเต้นท์บ้าง ในเรือบ้าง จะอาบน้ำก็ต้องประหยัด เพราะไม่มีแหล่งน้ำจืดบนเกาะ ต้องใช้วิธีลงไปอาบน้ำทะเลแล้วขึ้นมาล้างตัวด้วยน้ำจืด
จริงๆแล้วหลายๆครั้งในการออกสำรวจเกาะต่างๆ คณะสำรวจต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัวให้อยู่กับพื้นที่ให้ได้ เพราะบางครั้งคลื่นลมกลางทะเลก็แปรปรวน จะนั่งเรือยางไปขึ้นเกาะก็โดนคลื่นซัดจนเปียกไปทั้งตัว การสำรวจเกาะจึงเป็นสิ่งที่ทั้งยากลำบากและท้าทาย ในอดีตที่ผ่านมานักสำรวจแขนงต่างๆจึงไม่ค่อยจะทำการสำรวจเกาะกลางทะเล ทั้งๆที่บนผืนดินที่มีน้ำทะเลล้อมรอบอยู่นี่ละค่ะ คือแหล่งรวบรวมความหลากหลายทางชีวภาพเก็บไว้ ให้รอดพ้นจากมือนักล่า จึงไม่น่าแปลกใจที่การสำรวจหมู่เกาะทะเลไทยของคณะวิทยปฏิบัติการทุกครั้ง จะกลับมาด้วยข้อมูลและตัวอย่างของชีวภาพที่น่าสนใจจำนวนมากนี่อาจเรียกได้ว่า คือปฐมบทของการนำไปสู่การเรียนรู้ขั้นต่อไป....................
ที่เกาะกลางทะเล เราได้เห็นการอยู่ร่วมกันของสิ่งมีชีวิต ได้เห็นว่าที่ต้นไม้ต้นหนึ่ง มีนกชาปีไหนเข้ามาทำรังนับ 30 รัง ไม่ไกลจากต้นไม้นั้น เราพบร่องรอยของงูที่มาลอกคราบทิ้งไว้ บนหาดหินมีหอยหลายชนิด ออกหากินในช่วงเวลากลางคืน แม้แต่ใต้น้ำของบางเกาะ เราได้เห็นกระเบนราหู เข้ามากระพือครีบอย่างช้าๆ อ้าปากรอแพลงก์ตอนให้ไหลผ่านเข้าสู่กระเพาะ หลากหลายชีวิตเหล่านี้ อาศัยผืนดินและผืนน้ำของทะเลไทย สืบทอด...วิวัฒนาการ เพื่อให้สายพันธุ์ของตนดำรงอยู่ในสภาพธรรมชาติเช่นนี้ นานนับพันนับหมื่นปีจนถึงปัจจุบัน
น้องๆเห็นเกาะที่อยู่ข้างหน้าเรามั๊ยค่ะ นั่นละค่ะ คือ เกาะแสมสาร เดี๋ยวเราจะนั่งเรือลำนี้ข้ามไป แต่ทุกคนต้องสวมเสื้อชูชีพก่อนลงเรือนะค่ะ.......ว่าแล้วสาวชื่อมดหุ่นอวบอั๋น แต่กระฉับกระเฉง ก็คอยดูแลความเรียบร้อยของเสื้อชูชีพ เมื่อตรวจสอบจนครบทุกคนแล้ว ก็ให้เยาวชนทยอยลงเรือที่ลอยลำรออยู่
ตอนนี้เราแยกย้ายกันนะค่ะ ใครศึกษาเรื่องอะไรก็ไปที่พื้นที่ของตัวเองเลย น้องที่ทำเรื่องไลเค็น ตามพี่หมวยไปนะค่ะ ใครทำเรื่องเม่น เรื่องหญ้าทะเล วันนี้ให้ลงน้ำกับพี่โบ้ท แล้วตอนบ่ายเราค่อยกลับมาสรุปกันที่หาดหน้าบ้านค่ะ
หลังจากงานสำรวจหมู่เกาะทะเลไทยผ่านไป เกาะแสมสารก็ได้รับการปรับสภาพพื้นที่ให้เป็นเกาะสำหรับรองรับกิจกรรมการเรียนรู้ธรรมชาติของเยาวชน ซึ่งมีกติกากำหนดไว้ว่า เยาวชนแต่ละคนจะต้องกำหนดหัวข้อการศึกษาชีวภาพตามที่ตนเองสนใจ และเข้ามาทำการศึกษาในพื้นที่เกาะแสมสาร โดยจะมีพี่และอาจารย์ในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ เป็นที่ปรึกษาให้คำแนะนำ และต้องนำสิ่งที่ตนศึกษาได้มาเสนอให้เพื่อนๆและวิทยากรฟัง
ผมเคยอิจฉาเพื่อนที่วันเสาร์ อาทิตย์ เขาได้พักผ่อน ไปเที่ยว แต่ตอนนี้ผมคิดว่า ผมโชคดีกว่าเพื่อนๆเหล่านั้น ผมได้มาสำรวจ มาเป็นนักสำรวจปลวก และผมก็มีความสุขกับการสำรวจ ผมคิดว่ามันเป็นกำไรชีวิตที่คุ้มค่าที่สุดของผม........สันต์ สุขสวัสดิ์ นักเรียนโรงเรียนบ้านฉางกาญจนกุลวิทยา ได้พูดถึงความรู้สึกของตนเมื่อได้เข้ามาศึกษาปลวกบนเกาะแสมสาร
คำตอบทางวิทยาศาสตร์ไม่ใช่เป้าหมายสูงสุดที่ถูกคาดหวัง แต่สิ่งที่เหนือกว่านั้นก็คือ เด็กๆและเยาวชนที่ได้เข้ามาสัมผัสธรรมชาติ ศึกษาชีวภาพต่างๆที่เกาะแสมสาร เกิดจิตสำนึกรักและหวงแหน ต้องการที่จะดูแลธรรมชาติเช่นนี้ให้คงอยู่ต่อไปต่างหาก ที่ทำให้คณะทำงานซึ่งร่วมทำการสำรวจมาด้วยกันนับตั้งแต่ปี 2541 เกิดความปิติและเติมเป็นพลังให้มุ่งเดินไปข้างหน้าอย่างไม่ย่อท้อ แม้ว่าเรี่ยวแรงจะลดลงตามวันเวลาที่ผ่านไป
จากวันแรกที่ได้ยินเรื่องการสำรวจเกาะแสมสารจนถึงวันนี้ นับได้ถึง 10 ปี คำถามที่เคยมีอยู่ในใจ ได้รับคำตอบกลับมาหลายข้อ ภาพต่างๆค่อยชัดเจนขึ้น
ณ จุดนี้ ฉันได้รู้ว่าจากยอดเขาถึงใต้ทะเล เป็นแหล่งมรดกธรรมชาติที่ล้ำค่ามหาศาล สิ่งเหล่านั้นจะนำประโยชน์แท้มาสู่มหาชน หากพวกเราเรียนรู้ที่จะนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่า
และที่สุดของการเดินทางจากยอดเขาถึงใต้ทะเล คือฉันได้เรียนรู้ว่า สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าการค้นพบ ก็คือ การดำรงรักษาให้สิ่งนั้นได้ดำรงอยู่อย่างยั่งยืน.......สิ่งนี้ละค่ะ ที่มหาชนชาวไทยทุกคนต้องร่วมมือกัน เพราะนับจากยอดเขาถึงใต้ทะเล ทุกตารางนิ้วนี้ คือดินแดนของไทย.
บทความโดย : คุณศศิวิมล อยู่คงแก้ว
ประธานชมรมนักชีววิทยา โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ กองทัพเรือ
|