ในทวีปอเมริกามีมดที่ "ปลูกอาหาร" ไว้กินเอง ชื่อว่า มดนักตัดใบไม้ (leaf cutting ant) อันเป็นมดสกุล Atta มดพวกนี้ทำสวนเห็ดราในห้องขนาดใหญ่ในรังใต้ดินของมัน แล้วเห็ดราพวกนี้ก็ไม่ยอมเติบโตในสถานที่อื่นด้วย จึงได้ชื่อว่า Attamyrces ซึ่งเป็นญาติกับพวกเห็ดกินได้ มดนักตัดใบไม้จะหอบเศษใบไม้กลับรังเพื่อ "ปลูก" เห็ดในห้องต่าง ๆ ภายในรัง เอ็ดเวิร์ด วิลสัน เป็นคนค้นพบว่ามดนักตัดใบไมัรังที่เขาเก็บมาเลี้ยงไว้ในห้องแล็บ ทำงานเหมือนกับเป็นโรงงาน มดแต่ละตัวแบ่งหน้าที่กันทำอย่างลงตัว ไม่มีการก้าวก่ายกัน สายพานโรงงานของมดรังนี้ อาจเขียนเรียงลำดับได้ว่า ๑. มดงานที่ออกไปหาใบไม้กลับมาที่รัง มันวางของที่ได้มาลงบนพื้น ๒. มดงานตัวเล็กกว่าเก็บชิ้นใบไม้นั้นไปตัดเป็นชิ้นเล็ก ๆ ๓. มดอีกพวกรับใบไม้ชิ้นเล็กพวกนั้นมานวดบดจนเป็นก้อนใบไม้ขนาดจิ๋ว เสร็จแล้วยกไปกองรวมกันให้ราขึ้นฟู ดูเป็นฟองน้ำ ๔. มดขนาดเล็กลงไปอีกจะดูว่า "ก้อนรา" บริเวณไหนอัดแน่นกันเกินไป มันจะคอยจัดวางยักย้ายให้อยู่ในพื้นที่ที่เหมาะสม ๕. มดอีกกลุ่มจะนำราที่ได้ที่แล้ว มาบรรจุหีบห่อให้เป็นก้อน ทำความสะอาด แล้วส่งป้อนเพื่อนร่วมรัง ทั้งหมดนี้ ราชินีจะเป็นผู้ควบคุมดูแลจำนวนประชากรให้เหมาะสมตามปริมาณอาหารที่มีอยู่ โดยไม่ออกไข่มาเป็นมดทหารมากเกินไป ไม่อย่างนั้นพวกมันจะกินอาหารจนมดงานหาอาหารให้ไม่ทัน จนระบบรวน และจะเลยเถิดไปถึงขนาดเป็นหายนะของรังทั้งหมดก็ได้ คุณนายราชินีจึงไม่มีสิทธิ์คำนวณพลาด แต่โอกาสพลาดของราชินีก็มีน้อยมาก เพราะทุกอย่างในรังถูกขับเคลื่อนด้วยระบบที่มีเสถียรภาพสุดยอด มดแต่ละตัวไม่มีทางเบี้ยวหรือนัดหยุดงานได้เลย หากมีมดสักตัวเกิดเบี้ยวงานขึ้นมา สายพานโรงงานของพวกมันจะติดขัด ทำให้เกิดสถานการณ์ "กดดัน" ขึ้นภายในรังได้ ระบบอันสมบูรณ์ที่ว่านี้จึงดูเหมือนระบบการทำงานของร่างกายเดียวกันมากกว่าจะเป็น "สังคม" ตามความคิดแบบมนุษย์ เพราะในสังคมของมนุษย์ที่รวมกันเป็นกลุ่มก้อนนั้น คนแต่ละคนยังคงเอกลักษณ์และความสนใจส่วนตัวที่แตกต่างกันไป แต่มดไม่เคยแสดงความสนใจส่วนตัวออกมาให้ใครเห็นเลย ทุกตัวทำงานตามหน้าที่ไปในทิศทางเดียวกันเป็น "ขบวนแถวของชีวิตซึ่งกำลังดำเนินอย่างสง่าผ่าเผยและภาคภูมิ" เหมือนมันรู้ว่า "ในการประกอบการงานนั้น คือการที่เธอ (= พวกมด) รักชีวิตอย่างแท้จริง" นั่นแหละ น่าทึ่งยิ่งไปกว่านั้น คือการที่มดงานเปลี่ยนหน้าที่และตำแหน่งที่อยู่ในรัง จากศูนย์กลางขยับออกไปข้างนอกเรื่อย ๆ เมื่อมันแก่ขึ้นนั้น ก็เป็นดังการเปลี่ยนแปลงรูปร่างและกระบวนการทางเคมีภายในร่างกายของสิ่งมีชีวิตเลย
ที่มาของข้อมูล : http://www.sarakadee.com/feature/2002/08/ant.htm