ย้อนกลับ    
         
   

          การเรียนรู้บนเกาะแสมสาร ไม่มีข้อกำหนดหรือกฏเกณฑ์ในการศึกษาทรัพยากรธรรมชาติ ขอเพียงเยาวชนเหล่านั้นมีความมุ่งมั่น ตั้งใจในการเรียนรู้ ศึกษาทรัพยากรด้วยความสนใจสม่ำเสมอ และนำความรู้ที่ได้ กลับไปใช้ในการดำเนินชีวิตหรือนำสู่ผู้อื่นได้ในบางโอกาส

           จากเสียงสะท้อน ของเยาวชนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งได้เคยมาศึกษาทรัพยากรธรรมชาติที่เกาะแสมสาร ได้กล่าวถึงการได้ไปเรียนรู้ในช่วงเวลาที่ผ่านมาว่า

          "ผมอยากไปที่เกาะแสมสารอีกครับ อยากไปศึกษาปูเสฉวนอีก"

          "ถ้าปิดเทอม หนูจะไปเที่ยวเกาะแสมสารนะคะ ไม่รู้ว่าหญ้าลอยลมเป็นอย่างไรบ้าง"

          "หญ้าทะเลที่พวกผมเคยศึกษา ยังเจริญเติบโตดีอยู่หรือเปล่าครับ"

          ความรู้สึกเช่นนี้อาจไม่ได้เกิดขึ้นกับเยาวชนทุกคนที่ได้มาที่เกาะแสมสาร ถึงแม้จะเป็นเสียงส่วนน้อย แต่ก็ทำให้ได้รู้ว่า การได้สัมผัส เรียนรู้ทรัพยากรธรรมชาติที่เยาวชนสนใจ ไม่เพียงเป็นความรู้สึกแค่ช่วงเวลาที่ได้มาเกาะแสมสารเท่านั้น ไม่เป็นความทรงจำเพียงชั่วคราว แต่เป็นสิ่งที่เยาชนเกิดความรู้สึกรัก ไม่อยากทำลายและเป็นความรู้ที่จะติดตัวตลอดไป

          การสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากร ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงชั่วข้ามคืน แต่เป็นการสะสม เพิ่มพูนความรู้สึกรัก หวงแหน และในที่สุดก็จะเกิดเป็นความคิดในการอนุรักษ์ ซึ่งไม่เพียงแต่ทรัพยากรที่เยาวชนศึกษา แต่ยังรวมไปถึงทรัพยากรธรรมชาติที่อยู่รอบตัวด้วย

          สักวันหนึ่งนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย ศิลปิน จิตกร กวี ที่เติบโตขึ้นจาก แสมสาร.. เกาะแห่งการเรียนรู้ แห่งนี้ จะปรากฏให้ทุกคนได้เห็นว่า การสังเกต การสัมผัส การเรียนรู้ ก่อเกิดการอนุรักษ์และจิตสำนึกที่ดี ตลอดจนการก่อเกิดแรงบันดาลใจในการศึกษาเชิงลึก การคิดค้น พัฒนา ก่อเกิดองค์ความรู้ และนวัตกรรมใหม่ๆ ต่อไป

บทความโดย : แพรวพรรณ พัฒยุติ และ กรณ์รวี เอี่ยมสมบูรณ์
ชมรมนักชีววิทยา อพ.สธ. โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ

 
   


 
 
 
@ 2007 www.tis-museum.org.. All rights reserved.
This site is best viewed with Microsoft Internet Explorer 6.0+ at a minimum screen resolution of 1024 x 768,
A minimum modem connection speed of 56Kbps. Also required Flash plug-in.