ย้อนกลับ

อ่านหน้าต่อไป

 
         
   

          กระบวนการศึกษาและการสื่อความหมาย จากผลการศึกษาทรัพยากร เป็นสิ่งสำคัญสำหรับเยาวชน หากคิดเป็น ทำเป็น แต่ไม่มีกระบวนการนำเสนอในรูปแบบต่างๆ ที่ถูกต้อง อาจทำให้บทสรุปแห่งการเรียนรู้นั้นเกิดประโยชน์ต่อตนเองเท่านั้น ไม่สามารถนำสู่ผู้อื่นได้ ในกระบวนการเรียนรู้จึงมีการแนะนำและตรวจสอบความถูกต้องในการศึกษาวิจัย โดยคณะกรรมการฝ่ายวิชาการชมรมฯ ร่วมกับคณะปฏิบัติงานวิทยาการ อพ.สธ. และนักวิจัยจากหน่วยงานต่างๆ ที่ร่วมสนองพระราชดำริ ซึ่งจะทำให้เยาวชนได้เรียนรู้ถึงการบันทึกเหตุผล การสรุปผล และการนำเสนอผลการศึกษาในรูปแบบต่างๆ เช่น การสรุปผลการศึกษาในรูปแบบของโครงงานวิทยาศาสตร์ การนำเสนอโดยการบรรยาย การนำเสนอในรูปแบบของบอร์ดนิทรรศการ เป็นต้น

          จากการที่เกาะแสมสารมีความหลากหลายทางชีวภาพของทรัพยากรธรรมชาติ ตั้งแต่ยอดเขาถึงใต้ทะเล ซึ่งเป็นสิ่งที่เกื้อหนุนต่อกระบวนการเรียนรู้อย่างไม่มีวันจบสิ้น ไม่เพียงแต่เป็นการปลูกฝังในเรื่องการศึกษา วิจัย ค้นคว้า ทดลองอย่างถูกต้องตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์แล้ว ยังฝึกทักษะกระบวนการคิดอย่างเป็นระบบ ฝึกการสรุปและการนำเสนอผลการศึกษา การปฏิบัติงานร่วมกับผู้อื่น การแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในระหว่างการศึกษาแต่ละครั้ง ไม่ว่าจะเป็นสภาพอากาศที่ไม่เหมาะสมกับการดำเนินการศึกษา การประยุกต์ใช้อุปกรณ์ในการศึกษา และบันทึกผลข้อมูล การปรับแผนการดำเนินงานให้มีความสอดคล้องกับระยะเวลาในการศึกษา เป็นต้น

            ในบางครั้งการสนทนากันระหว่างสมาชิกในกลุ่มเยาวชนที่มาเรียนรู้ที่เกาะแสมสาร ได้แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการทางการเรียนรู้ แนวความคิด การตัดสินใจ ในการแก้ไขปัญหาต่างๆ การแบ่งหน้าที่กันในการทำงานเป็นกลุ่ม ตลอดจนคุณธรรมที่ได้จากการศึกษาเรียนรู้และปฏิบัติงานร่วมกันที่เกาะแสมสาร ดังเช่น

          "เราขอเสนอแนวทางการปรุปผลงานเป็นการเสนอในรูปแบบของตารางข้อมูล จะทำให้ข้อมูลเป็นระบบ และสื่อให้เพื่อนๆ เข้าใจชัดเจน"

          " เราช่วยเก็บอุปกรณ์ให้ เธอไปล้างตัวก่อน เพิ่งจะขึ้นจากน้ำทะเล เดี๋ยวเราจะได้ทานข้าวพร้อมกัน"

          "เรามาแบ่งหน้าที่กันนะ เธอบันทึกข้อมูลและภาพ ส่วนเราจะวัดความสูงของต้นไม้เอง"

          การศึกษาทรัพยากรธรรมชาติของเยาวชนเหล่านี้ เป็นการใช้เวลาว่างในวันหยุดหรือในชั่วโมงเรียนวิชาชุมนุม เยาชนบางส่วนมาศึกษาเรียนรู้ได้ 1-2 ครั้ง ก็มีอันต้องเลิกไป เพื่อกลับไปช่วยผู้ปกครองทำงาน หรือ ทำงานพิเศษอื่นๆ ทำให้การเดินทางมาเรียนรู้ไม่ต่อเนื่อง แต่ก็ไม่มีคำว่าสายเกินไป หากมีเวลาหรือความตั้งใจที่จะกลับมาเกาะแสมสารอีกครั้งเพื่อสานความฝันในการเรียนรู้เรื่องทรัพยากรที่ตนสนใจ

อ่านหน้าต่อไป

บทความโดย : แพรวพรรณ พัฒยุติ และ กรณ์รวี เอี่ยมสมบูรณ์
ชมรมนักชีววิทยา อพ.สธ. โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ

 
   


 
 
 
@ 2007 www.tis-museum.org.. All rights reserved.
This site is best viewed with Microsoft Internet Explorer 6.0+ at a minimum screen resolution of 1024 x 768,
A minimum modem connection speed of 56Kbps. Also required Flash plug-in.